วัดหมื่นไวย (อุโบสถกลางน้ำ ๓๐๐ ปี)
วัดหมื่นไวย เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ. 2253 โดยบริเวณที่ตั้งวัดในสมัยนั้นเป็นที่พักตั้งด่านของขุนหมื่นไวย จึงตั้งชื่อวัดว่า วัดหมื่นไวย เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วก็สร้างเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์ได้อาศัยทำกิจวัตรและบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ ทำนุบำรุงให้พระสงฆ์ได้มีที่พักอาศัยตลอดมาสำหรับประวัติอุโบสถหลังเก่า ท่านผู้เฒ่าได้เล่าให้ฟังว่า ขรัวพ่อเจ้าวัดบึง (หลวงพ่อเพชร) ซึ่งเป็นตระกูลศรีหมื่นไวย ในขณะที่ท่านอุปสมบทอยู่ ท่านได้สร้างอุโบสถที่วัดบึง 1 หลัง พอทำโบสถ์ที่วัดบึงเสร็จแล้ว ท่านจึงได้มาสร้างโบสถ์ที่วัดหมื่นไวย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ลักษณะของโบสถ์ของวัดหมื่นไวยเป็นโบสถ์ที่มีเสาสี่เสาเก้าประตู แปดหน้าต่าง มีน้ำล้อมรอบโบสถ์ สร้างเสร็จแล้วก็ได้ให้พระสงฆ์ได้ทำสังฆกรรม และต่อมาโบสถ์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ภายในมีอุโบสถเก่าก่อด้วยอิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 8 เมตร x 12 เมตร ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาด 3 ห้อง เจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ ข้างละ 2 ช่อง ด้านหน้าและหลังก่อเป็นมุขลดชั้นยื่นออกมาทั้ง 2 ด้าน มุขด้านหน้า ด้านทิศตะวันออกก่อผนังทึบเจาะช่องประตูทางเข้า 2 ช่อง ผนังกั้นระหว่างมุขหน้ากับห้องโถงกลางเจาะเป็นช่องประตูทางเข้า 3 ช่อง ที่ผนังกั้นโถงกลางเจาะเป็นช่องประตูเข้าสู่ห้องโถงกลาง ตรงกลางทำเป็นซุ้มปราสาทประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็ก (พระธาตุจุฬามณี) ไว้ภายใน ภายในห้องโถงกลางที่ผนังกั้นมุขตะวันตกก่อเป็นแท่นชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิเยก์ (ปางเลไลยก์) ปูนปั้นลงรักปิดทอง หน้าบันมุขทั้ง 2 ด้าน สลักเป็นลายเครือเถา พระพุทธรูปปางปาลิเยก์ (ปางเลไลยก์) ปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดิษฐานในอุโบสถกลางน้ำวัดหมื่นไวย ฐานอุโบสถ ก่อเป็นแนวโค้งที่เรียกตามเชิงช่างว่า หย่อนท้องช้างหรือหย่อนท้องสำเภา ซุ้มหน้าต่างและซุ้มประตูเป็นซุ้มรูปสามเหลี่ยม ลักษณะคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย จึงอาจสันนิษฐานไว้ว่า อุโบสถหลังนี้คงสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 23 และได้รับการบูรณะสืบเนื่องกันมา หน้าต่างอุโบสถ ทำจากไม้ เคาะดูเสียงดังกังวานคล้ายหิน